Friday, September 30, 2016

ปชป.ติงหากให้ม.44ยุบสภา เกิดปัญหาไม่จบสิ้น

ปชป.ติงหากให้ม.44ยุบสภา เกิดปัญหาไม่จบสิ้น  

เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2559 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯได้ จนเวลาล่วงเลยไป 5-6 เดือนแล้วยังไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีการตามรัฐธรรมนูญคือยุบสภา โดยรัฐบาลปัจจุบัน เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ไปจนกว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยมาตรา 44 ยังคงมีผลอยู่สามารถยุบสภาได้ ว่า คิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่จะเลือกนายกฯไม่ได้ เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วทุกฝ่ายก็อยากให้ประเทศเดินหน้าไปได้ด้วยวิธีการใดก็ตามที่ให้ประเทศเดินไปได้ คือต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
 
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนที่นายวิษณุ พูดว่าจะใช้ มาตรา44 ในการยุบสภาหากเลือกนายกฯไม่ได้ คงใช้ได้ แต่ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้หลังการเลือกตั้งแล้ว ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย ทั้งนี้เชื่อว่าเหตุการณ์ในลักษณะนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะทุกฝ่ายก็อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปได้อยู่แล้ว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดของนายวิษณุ เป็นการขู่ว่าต้องเลือกนายกฯให้ได้หรือไม่ นายองอาจ กล่าวว่า ตนไม่มองเช่นนั้นเพราะยังอีกไกล ไม่รู้ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร แต่ในฐานะนักกฎหมายนายวิษณุคงชี้ให้เห็นว่ากฎหมายใช้ช่องทางอะไรบ้าง แต่ตนก็ยังเชื่อมั่นว่าน่าจะเลือกนายกฯได้ ดังนั้นปัญหานี้คงไม่เกิดขึ้น จึงไม่ต้องนำมาตรา 44 มาใช้ และยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาขึ้นมาได้คงไม่มีใครสามารถพูดล่วงหน้าตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ได้
 
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า น่าจะเป็นการโยนหินถามทาง เพราะถ้ามีการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแก้ไขมา ที่ปกติให้ ส.ส. เป็นผู้เสนอชื่อนายกฯในบัญชีพรรคการเมือง ถ้ากระบวนการเดินไปไม่ได้ ก็ให้ส.ส.และส.ว.เข้าชื่อยกเว้นนายกฯจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ส.ว. 250 ส.ส.อีก 150 เสียงก็เกินอยู่แล้ว การยุบสภาฯก็ไม่เกิด และถ้าเดินตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน การยุบสภาก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งต้องเดินตามอยู่แล้วเพราะคำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์การ และการใช้มาตรา 44 ยุบสภา ก็จะก่อให้เกิดปัญหาไม่จบไม่สิ้น คนที่ลงนามในคำสั่งก็จะเสียหาย และการเมืองไม่ควรแก้ด้วยมาตรา 44
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าส.ส.ไม่เอาด้วยกับส.ว.ก็เกิดปัญหาอยู่ดี นายวิรัตน์ กล่าวว่า ยังเชื่อศักยภาพรัฐสภาชุดนี้ เพราะอยากให้บ้านเมืองเดินไปได้ และการที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และยังโหวตให้คำถามพ่วงผ่านอีก แปลว่าประชาชนเขาต้องการให้ส.ว.มีโอกาสเลือกนายกฯ อย่างไรก็ตามเห็นว่ารัฐบาลไม่ต้องเตรียมแก้ปัญหาล่วงหน้า เพราะเมื่อใดที่ส.ส.เลือกนายกฯจากรายชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายพรรคการเมืองไม่ได้ แปลว่า ส.ส.มีพวกไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ลงรอยกันเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ส.ว.ต้องมองเห็นว่าควรจะร่วมกับกลุ่มใดเพื่อโหวต ขอให้รัฐสภามีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อให้สามารถเลือกนายกฯจากนอกบัญชีพรรคการเมืองได้

No comments:

Post a Comment